เศรษฐศาสตร์ คือ ศาสตร์ หรือ วิชาที่ศึกษาถึงวิธีการจัดสรรทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดและขาดแคลน มาใช้ผลิตสินค้าและบริการต่าง ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของมนุษย์ที่มีอยู่อย่างไม่จำกัด
ประวัติความเป็นมาของวิชาเศรษฐศาสตร์
แนวคิดด้านเศรษฐศาสตร์นั้น เริ่มมีมาตั้งแต่สมัยโบราณ โดยนักปราชญ์ในยุคโบราณนั้น พยายามที่จะสอดแทรกแนวคิดเกี่ยวกับเศรษฐศาสตร์เข้ายังไปหลักต่าง ๆ เช่น หลักปรัชญา ศาสนา หลักการปกครอง อาทิ แนวคิดเรื่องการแบ่งงานกันทำของเพลโต (Plato) หรือจะเป็นแนวคิดเรื่องความมั่งคั่งของอริสโตเติล (Aristotle) เป็นต้น
จนกระทั่งในคริสต์ศตวรรษที่ 18 อาดัม สมิธ (Adam Smith) นักเศรษฐศาสตร์ชาวอังกฤษ ได้วางรากฐานของวิชาเศรษฐศาสตร์ด้วยตำราทางเศรษฐศาสตร์เล่มแรกของโลกที่ชื่อว่า “An inquiry into the Nature and Causes of the Wealth of Nations” หรือสั้น ๆ คือ “The Wealth Nations” ซึ่งแปลเป็นไทยว่า “ความมั่งคั่งแห่งชาติ”
ความสำคัญของเศรษฐศาสตร์
เศรษฐศาสตร์เป็นเรื่องที่มีความเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของคนทุกระดับ ทั้งในระดับผู้บริหารประเทศและระดับประชาชนคนทั่วไป
- ระดับผู้บริหารประเทศ หนึ่งในหน้าที่ของผู้บริหารประเทศที่จำเป็นอย่างยิ่งก็คือ การบริหารทรัพยากรของประเทศให้ก่อประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน ฉะนั้น ผู้บริหารประเทศจึงต้องมีความรู้ทางด้านเศรษฐศาสตร์ เพื่อใช้ในการบริหารทรัพยากรของประเทศ ทั้งนี้ ก็เพื่อให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดี
- ระดับประชาชนคนทั่วไป การมีความรู้ทางด้านเศรษฐศาสตร์ จะช่วยทำให้ประชาชนคนทั่วไป สามารถที่จะตัดสินใจดำเนินการทางด้านเศรษฐกิจได้อย่างสมเหตุสมผล สามารถปรับตัวตามสถานการณ์ทางด้านเศรษฐกิจได้ทันท่วงที ซึ่งทำให้สามารถอยู่รอดได้ในสถานการณ์ที่เกิดความยากลำบากหรือเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ
ประโยชน์ของเศรษฐศาสตร์
- ประโยชน์ต่อผู้ศึกษา ผู้ที่ศึกษาวิชาเศรษฐศาสตร์จะมีความรู้เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจ ซึ่งทำให้สามารถปรับตัวหรือเปลี่ยนแปลงบางอย่างให้เหมาะสมกับการเปลี่ยนแปลงนั้นได้
- ประโยชน์ในฐานะผู้บริโภค ทำให้สามารถตัดสินใจในการบริโภคหรือซื้อสินค้าได้อย่างคุ้มค่ามากที่สุด นอกจากนี้ ยังช่วยให้สามารถปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจได้อีกด้วย
- ประโยชน์ในฐานะผู้ผลิต การมีความรู้ทางด้านเศรษฐศาสตร์ เป็นเรื่องที่สำคัญอย่างมากสำหรับผู้ผลิต เพราะจะช่วยทำให้สามารถตัดสินใจได้ว่า จะผลิตหรือไม่ผลิต จะผลิตอะไร จะผลิตเท่าใด จะผลิตเพื่อใครและจะผลิตอย่างไร เพื่อให้ได้รับผลกำไรสูงสุด
- ประโยชน์ในฐานะรัฐบาล ทำให้สามารถเข้าใจโครงสร้างทางด้านเศรษฐกิจและสามารถที่บริหารเศรษฐกิจได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ ยังช่วยให้สามารถรับมือกับความเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจ เพื่อรักษาไว้ซึ่งเสถียรภาพทางด้านเศรษฐกิจของประเทศ
- ประโยชน์ในฐานะพลเมืองของประเทศ หนึ่งในหน้าที่สำคัญของการเป็นพลเมืองที่ดีของประเทศ ก็คือ การตอบรับ ร่วมมือ และช่วยกันแก้ไขปัญหาทางด้านเศรษฐกิจของประเทศ แต่หากไร้ซึ่งความรู้ทางด้านเศรษฐศาสตร์ ก็อาจจะไม่สามารถช่วยอะไรได้เลย ซ้ำอาจจะสร้างปัญหาให้กับประเทศมากขึ้นกว่าเดิมเสียอีก
ขอบข่ายหรือสาขาของวิชาเศรษฐศาสตร์
- เศรษฐศาสตร์จุลภาค (Microeconomics) เป็นการศึกษาเกี่ยวกับกิจกรรมทางด้านเศรษฐกิจขนาดเล็ก หรือกิจกรรมทางด้านเศรษฐกิจในระดับย่อยๆ ซึ่งเป็นกิจกรรมทางด้านเศรษฐกิจของผู้บริโภคและผู้ผลิต อาทิ กลไกราคา พฤติกรรมของตลาด พฤติกรรมผู้บริโภค ปัจจัยการผลิต ปัญหาพื้นฐานทางเศรษฐกิจ เป็นต้น
- เศรษฐศาสตร์มหภาค (Macroeconomics) เป็นการศึกษาเกี่ยวกับพฤติกรรมทางเศรษฐกิจในระดับภาพรวม ระดับประเทศ หรือระดับโลก อาทิ รายได้ประชาชาติ การค้าระหว่างประเทศ นโยบายทางการเงิน การธนาคาร และการคลัง เป็นต้น
ถึงแม้ว่าจะมีการแบ่งขอบข่ายหรือสาขาของวิชาเศรษฐศาสตร์ แต่ในความเป็นจริงแล้ว ทั้ง 2 มีความเกี่ยวข้องกันอย่างใกล้ชิด ฉะนั้น ในการศึกษาวิชาเศรษฐศาสตร์ จึงต้องศึกษาควบคู่กันไปทั้ง 2 สาขา
แบบฝึกหัด เรื่อง เศรษฐศาสตร์เบื้องต้น
- เศรษฐศาสตร์เป็นศาสตร์ที่ว่าด้วยเรื่องของอะไร ?
- เศรษฐศาสตร์มีประโยชน์อย่างไร ?
- เศรษฐศาสตร์แบ่งเป็นกี่สาขา ? อะไรบ้าง ?
- เศรษฐศาสตร์จุลภาคว่าด้วยเรื่องของอะไร ?
- เศรษฐศาสตร์มหภาคว่าด้วยเรื่องของอะไร ?
ข้อสอบ เรื่อง เศรษฐศาสตร์เบื้องต้น
- ข้อใดไม่เกี่ยวข้องกับวิชาเศรษฐศาสตร์
ก. พฤติกรรมการดำรงชีวิตของมนุษย์
ข. การปรับขึ้นหรือลดราคาสินค้าและบริการ
ค. การบริหารทรัพยากรให้สามารถใช้ได้อย่างเพียงพอ
ง. การจัดสรรที่ดินในการเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์ให้กับเกษตรกร - ข้อใดคือประโยชน์ของการศึกษาวิชาเศรษฐศาสตร์
ก. ช่วยให้ใช้ชีวิตได้อย่างคุ้มค่า
ข. ช่วยให้แก้ไขสถานการณ์ได้อย่างทันท่วงที
ค. ช่วยให้สามารถปรับตัวกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น
ง. ช่วยให้สามารถบริหารทรัพยากรได้อย่างมีประสิทธิภาพ - ข้อใดที่ไม่เกี่ยวข้องกับเศรษฐศาสตร์จุลภาค
ก. วิชา ศึกษากลไกราคาเพื่อใช้ในการตัดสินใจซื้อสินค้า
ข. สมพร ศึกษานโยบายทางการเงินเพื่อช่วยแก้ปัญหาเงินเฟ้อ
ค. วินัย ศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภคก่อนตัดสินใจผลิตสินค้าที่จะขาย
ง. สมศักดิ์ หาแหล่งวัตถุดิบราคาถูกเพื่อประหยัดต้นทุนในการผลิต - ข้อใดที่ไม่เกี่ยวข้องกับเศรษฐศาสตร์มหภาค
ก. รัฐบาลไทยประกาศใช้งบประมาณแบบขาดดุล
ข. ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ย
ค. กระทรวงการคลังประกาศใช้นโยบายการคลังเข้มงวด
ง. บริษัทเอกชนแห่งหนึ่งให้โบนัสกับพนักงานทุกคนในบริษัท - ข้อใดคือขอบข่ายหรือสาขาของวิชาเศรษฐศาสตร์
ก. เศรษฐศาสตร์เศรษฐกิจ
ข. เศรษฐศาสตร์มหภาค
ค. เศรษฐศาสตร์ทฤษฎี
ง. เศรษฐศาสตร์วิวัฒนาการ
เฉลยข้อสอบ
1) ก. 2) ง. 3) ข. 4) ง. 5) ข.