สิทธิผู้บริโภค เป็นเรื่องที่ถูกได้รับรองสิทธิไว้ตั้งแต่ในรัฐธรรมนูญ ซึ่งรัฐธรรมนูญนั้นถือได้ว่า เป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ ฉะนั้น “สิทธิผู้บริโภค” จึงถือได้ว่าเป็นเรื่องสำคัญและจะต้องควรรู้

ปัจจุบัน สิทธิผู้บริโภค ถูกกล่าวไว้ในหมวด 3 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560 ซึ่งเป็นหมวดที่เกี่ยวกับ สิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทย โดยสิทธิผู้บริโภค ถูกบัญญัติไว้ในมาตรา 46 ความว่า
มาตรา 46 สิทธิของผู้บริโภคย่อมได้รับความคุ้มครอง
บุคคลย่อมมีสิทธิรวมกันจัดตั้งองค์กรของผู้บริโภคเพื่อคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภค
องค์กรของผู้บริโภคตามวรรคสองมีสิทธิรวมกันจัดตั้งเป็นองค์กรที่มีความเป็นอิสระเพื่อให้เกิดพลัง ในการคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภคโดยได้รับการสนับสนุนจากรัฐ ทั้งนี้ หลักเกณฑ์และวิธีการจัดตั้ง อำนาจในการเป็นตัวแทนของผู้บริโภค และการสนับสนุนด้านการเงินจากรัฐ ให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 46
นอกจากที่ถูกระบุเอาไว้ในมาตรา 46 แล้ว ในรัฐธรรมนูญหมวด 5 ที่ว่าด้วยเรื่อง หน้าที่ของรัฐ มาตรา 61 ก็ยังได้กำหนดไว้อีกว่า
มาตรา 61 รัฐต้องจัดให้มีมาตรการหรือกลไกที่มีประสิทธิภาพในการคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภคด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านการรู้ข้อมูลที่เป็นจริง ด้านความปลอดภัย ด้านความเป็นธรรมในการทําสัญญา หรือด้านอื่นใดอันเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 61
นอกจากที่ถูกกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญแล้ว สิทธิผู้บริโภค ยังถูกกำหนดไว้ใน พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 และ ฉบับที่ 4 พ.ศ. 2562 โดยได้บัญญัติสิทธิของผู้บริโภคไว้ ดังนี้
มาตรา 4 ผู้บริโภคมีสิทธิได้รับความคุ้มครองดังต่อไปนี้
(1) สิทธิที่จะได้รับข่าวสารรวมทั้งคำพรรณนาคุณภาพที่ถูกต้องและเพียงพอเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการ
(2) สิทธิที่จะมีอิสระในการเลือกหาสินค้าหรือบริการ
(3) สิทธิที่จะได้รับความปลอดภัยจากการใช้สินค้าหรือบริการ
(3 ทวิ)4 สิทธิที่จะได้รับความเป็นธรรมในการทำสัญญา
(4) สิทธิที่จะได้รับการพิจารณาและชดเชยความเสียหาย
ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายว่าด้วยการนั้น ๆ หรือพระราชบัญญัตินี้บัญญัติไว้
พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พุทธศักราช 2522 มาตรา 4
หน้าที่ของผู้บริโภค
สิทธิของผู้บริโภคทั้ง ๕ ประการ ตามที่กฎหมายได้บัญญัติไว้ จะได้รับผลเต็มที่ต่อเมื่อผู้บริโภคได้ปฎิบัติตามคำแนะนำ ดังต่อไปนี้
หน้าที่ของผู้บริโภคก่อนซื้อ
- ผู้บริโภคต้องระมัดระวังในการซื้อสินค้าและบริการ ต้องพิจารณาให้ดีก่อนตัดสินใจซื้อสินค้าและบริการ
- การทำสัญญาใด ๆ ที่มีผลผูกพันทางกฎหมาย ต้องตรวจสอบและพิจารณาเงื่อนไขในสัญญาให้ดีก่อนตัดสินใจทำสัญญา หากไม่แน่ใจหรือไม่มีความรู้เพียงพอ ควรปรึกษาผู้มีความรู้ก่อนตัดสินใจ
- ข้อตกลงใด ๆ ที่ต้องการให้มีผลบังคับทางกฎหมาย ต้องทำเป็นหนังสือเท่านั้น และหนังสือนั้นต้องมีการลงลายมือชื่อ
หน้าที่ของผู้บริโภคหลังซื้อ
- ผู้บริโภคมีหน้าที่ เก็บรักษาพยานหลักฐานต่าง ๆ ที่แสดงถึงการเป็นผู้บริโภค และเพื่อใช้แสดงให้เห็นว่า ตนเองเป็นผู้ถูกละเมิดสิทธิของผู้บริโภค เพราะการเรียกร้องสิทธิผู้บริโภค จำเป็นต้องมีหลักฐานแสดงให้เห็นว่า ตนเองคือผู้ได้รับผลกระทบจากการบริโภค
- ในการทำสัญญาต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นลายลักษณ์อักษร ผู้บริโภคต้องเก็บเอกสารสัญญา รวมถึงเอกสารอื่น ๆ ไว้ด้วย อาทิ ใบเสร็จรับเงิน
- หากมีการละเมิดสิทธิ ผู้บริโภคมีหน้าที่ในการดำเนินการเรียกร้องหรือร้องเรียนตามสิทธิของตน
แบบฝึกหัด เรื่อง สิทธิผู้บริโภค
- สิทธิผู้บริโภค อยู่ในกฎหมายใดบ้าง
- กฎหมายที่เกี่ยวกับสิทธิผู้บริโภคโดยตรง คือ กฎหมายใด
- ผู้บริโภคได้รับการคุ้มครองสิทธิอะไรบ้าง
ข้อสอบ เรื่อง สิทธิผู้บริโภค
- ข้อใดต่อไปนี้กล่าวผิด
ก. รัฐธรรมนูญมีการรับรองสิทธิของผู้บริโภคเอาไว้
ข. ประเทศไทยมีกฎหมายคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค
ค. ผู้บริโภคได้รับรองการคุ้มสิทธิจำนวน 10 สิทธิ
ง. กล่าวผิดทุกข้อ - ข้อใดไม่ใช่สิทธิผู้บริโภคที่ได้รับการคุ้มครอง
ก. ผู้บริโภคมีอิสระในการเลือกซื้อสินค้าและบริการ
ข. ผู้บริโภคต้องได้รับความปลอดภัยจากการใช้สินค้าและบริการ
ค. ผู้บริโภคจะได้รับการชดเชยความเสียหายหากผู้บริโภคถูกละเมิด
ง. ทุกข้อคือสิทธิผู้บริโภคที่ได้รับการคุ้มครอง - ข้อใดต่อไปนี้ คือ สิ่งที่ผู้บริโภคต้องทำก่อนตัดสินใจซื้อสินค้าและบริการทุกครั้ง
ก. พิจารณาสัญญาให้ดีก่อนตัดสินใจทำสัญญา
ข. อ่านรายละเอียดสินค้าและบริการพอประมาณก่อนตัดสินใจ
ค. ทำสัญญาด้วยวาจา กับสัญญาที่ต้องการให้มีผลบังคับทางกฎหมาย
ง. ไม่มีข้อใดที่ผู้บริโภคต้องทำก่อนตัดสินใจซื้อสินค้าและบริการ
เฉลยข้อสอบ
1) ค. 2) ง. 3) ก.
อ้างอิง
- คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ. “รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: cdc.parliament.go.th. [25 มี.ค. 2565].
- สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค. “พ.ร.บ. คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: ocpb.go.th. [7 เม.ย. 2565].