ระบบเศรษฐกิจ คือ สถาบันทางเศรษฐกิจ (Economic System) ที่ประกอบหรือรวมเอาหน่วยเศรษฐกิจหลายๆ หน่วย รวมเอาไว้ด้วยกัน โดยจะต้องมีกฎเกณฑ์ ระเบียบแบบแผนหรือแนวปฏิบัติอย่างเดียวกัน
สำหรับการแบ่งระบบเศรษฐกิจในปัจจุบัน จะเป็นการแบ่งโดยคำนึงถึงสภาพความเป็นจริงหรือลักษณะที่เกิดขึ้นจริงที่มีอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งทำให้สามารถแบ่งระบบเศรษฐกิจได้เป็น 3 ระบบใหญ่ ๆ ด้วยกัน คือ
1. ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม (Capitalism) หรือระบบเสรีนิยม
อาจเรียกได้อีกอย่างว่า “ระบบเศรษฐกิจที่ไม่มีการวางแผน (Unplanned Economy)” ที่เรียกเช่นนั้นก็เพราะว่า เป็นระบบเศรษฐกิจที่รัฐจะไม่เข้ามายุ่งเกี่ยวใด ๆ หรือไม่เข้ามาวางแผนใด ๆ ในการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ หรือปล่อยให้ประชาชนดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจกันเองโดยเสรี
ลักษณะที่เด่นชัดของระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม คือ เอกชนจะเป็นเจ้าของทรัพย์สินและปัจจัยในการผลิต มีเสรีภาพในการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ทั้งในเรื่องของการผลิตสินค้า การจำหน่ายสินค้า การบริโภคสินค้า และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการผลิตและการบริโภค
การแข่งขันทางเศรษฐกิจ จะเป็นไปอย่างกว้างขวางและเสรี กิจกรรมทางเศรษฐกิจต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น จะขึ้นอยู่กับเรื่องของกลไกราคาหรือกลไกตลาด โดยเฉพาะในเรื่องปัญหาพื้นฐานการผลิต
เป็นระบบเศรษฐกิจที่มีการใช้ทุนเป็นจำนวนมาก มีการใช้เทคโนโลยีที่ก้าวหน้ามาช่วยในการผลิต มีผลกำไรเป็นแรงจูงใจในการผลิต
จุดมุ่งหมายสูงสุดของการประกอบกิจกรรมทางเศรษฐกิจในระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม คือ ผลกำไร หรือผลประโยชน์ให้มากที่สุด และในขณะเดียวกัน ผู้บริโภคในระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม ก็จะทำให้ตนเองได้รับความพึงพอใจมากที่สุดจากการบริโภคสินค้าและบริการ
2. ระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยม (Socialism)
เป็นระบบเศรษฐกิจที่มีการวางแผนจากส่วนกลางอย่างเต็มที่ (Planned Economy) มีลักษณะสำคัญ คือ รัฐเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิตและเป็นผู้ควบคุมการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจทุกขั้นตอน ไม่ว่าจะเป็นการผลิต การกระจาย การแลกเปลี่ยน และที่สำคัญคือ ไม่มีกลไกราคา ราคาสินค้าและบริการถูกกำหนดหรือควบคุมโดยรัฐ
ระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยมนั้น รัฐจะยินยอมให้เอกชนมีเสรีภาพในการผลิตสินค้าและบริการเพียงบางอย่างได้เท่านั้น แต่กระนั้น รัฐก็ยังจะสามารถควบคุมและแทรกแซงได้ทุกเมื่อที่ต้องการ
อาจจะกล่าวได้ว่า ระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยมนั้น มีลักษณะที่ตรงกันข้ามกับระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมโดยสิ้นเชิงก็ว่าได้
3. ระบบเศรษฐกิจแบบผสม (Mixed Economy)
เป็นระบบเศรษฐกิจที่ผสมผสานกันระหว่างระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมและสังคมนิยม โดยการดำเนินธุรกิจส่วนใหญ่จะเป็นของเอกชน
ในระบบเศรษฐกิจแบบผสมนั้น รัฐจะปล่อยให้เอกชนเป็นผู้ดำเนินธุรกิจ แต่รัฐจะมีอำนาจเข้าไปแทรกแซงได้ในกรณีที่มีความจำเป็น โดยเฉพาะในเรื่องของราคา หากกลไกราคาทำให้สินค้าและบริการมีราคาที่สูงเกินไปหรือถูกเกินไป จนเกิดผลกระทบต่อผู้บริโภคและผู้ผลิต รัฐก็อาจจะเข้าไปแทรกแซงราคาเพื่อให้เกิดความเป็นธรรม
ส่วนธุรกิจที่รัฐอาจเป็นผู้ดำเนินธุรกิจเอง ก็จะเป็นธุรกิจที่มีความเกี่ยวข้องกับโครงสร้างพื้นฐานของประเทศที่มีความจำเป็น เนื่องจากเป็นธุรกิจที่ต้องลงทุนสูง และมีผลกระทบต่อประชาชนโดยส่วนใหญ่ อาทิ ระบบขนส่งมวลชน ไฟฟ้า ประปา เป็นต้น
ระบบเศรษฐกิจของประเทศไทย
ปัจจุบันประเทศไทย มีระบบเศรษฐกิจแบบผสม โดยรัฐเป็นผู้วางแผนในการพัฒนาเศรษฐกิจ ซึ่งสะท้อนให้เห็นได้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ โดยรัฐจะเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิตและเป็นผู้ดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เฉพาะที่เป็นพื้นฐานทางเศรษฐกิจ
สำหรับเอกชนมีเสรีภาพในการผลิตและดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้อย่างเสรี มีสิทธิในการเป็นเจ้าของทรัพย์สินและปัจจัยการผลิต กิจกรรมทางเศรษฐกิจเป็นไปตามกลไกราคา
สำหรับการแทรกแซงของรัฐ จะแทรกแซงเมื่อมีความจำเป็นเท่านั้น เช่น การควบคุมราคาของสินค้าที่มีความจำเป็นในกรณีที่เกิดภาวะขาดแคลน เพื่อให้ผู้บริโภคทุกคนสามารถเข้าถึงสินค้าได้ หรือการประกันราคาสินค้าบางชนิด เช่น ข้าวเปลือก ในกรณีที่กลไกราคาทำให้ราคาข้าวเปลือกตกต่ำ เพื่อเป็นการช่วยเหลือเกษตรกร
แบบฝึกหัด เรื่อง ระบบเศรษฐกิจ
- ระบบเศรษฐกิจในปัจจุบันมีกี่ระบบ อะไรบ้าง
- ลักษณะของระบบเศรษกิจแบบทุนนิยมเป็นอย่างไร
- ประเทศไทยใช้ระบบเศรษฐกิจแบบใดในปัจจุบัน
ข้อสอบ เรื่อง ระบบเศรษฐกิจ
- ข้อใดไม่ใช่ระบบเศรษฐกิจที่มีอยู่ในโลกปัจจุบัน
ก. ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม
ข. ระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยม
ค. ระบบเศรษฐกิจแบบผสม
ง. เป็นระบบเศรษฐกิจที่มีอยู่ในปัจจุบันทุกข้อ - ข้อใดคือลักษณะของระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม
ก. เอกชนเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิตและมีเสรีในการผลิต
ข. รัฐมีเสรีภาพในการผลิตและเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิต
ค. รัฐมีอิสระในการควบคุมปริมาณการผลิตในแต่ละครั้ง
ง. เอกชนเป็นผู้ผลิตได้ในบางอย่างที่รัฐอนุญาตเท่านั้น - จากตัวเลือกต่อไปนี้ ข้อใดสอดคล้องกับระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยมมากที่สุด
ก. รัฐมีอิสระในการผลิตหรือไม่ผลิตอะไรก็ได้
ข. รัฐเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิตและเป็นผู้ผลิตทุกอย่าง
ค. รัฐมีอำนาจเข้าไปแทรกแซงราคาได้ในกรณีที่สินค้าขาดแคลน
ง. ไม่มีข้อใดถูกต้อง - ในระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม เอกชนสามารถผลิตสินค้าอะไรได้บ้าง
ก. เฉพาะสินค้าฟุ่มเฟือย
ข. อาหารและเครื่องดื่มเท่านั้น
ค. ผลิตได้ทุกอย่างที่ไม่ผิดกฎหมาย
ง. ผลิตได้เฉพาะสินค้าที่มีความจำเป็น - การแทรกแซงของรัฐในระบบเศรษฐกิจแบบผสม คือ การแทรกแซงในเรื่องใด
ก. ราคา
ข. ปริมาณ
ค. ปัจจัยการผลิต
ง. ผิดทุกข้อ
เฉลยข้อสอบ
1) ง. 2) ก. 3) ข. 4) ค. 5) ก.