Categories
เศรษฐศาสตร์

การผลิต

การผลิต คือ การนำเอาปัจจัยการผลิตต่าง ๆ ซึ่งได้แก่ วัตถุดิบ ที่ดิน ทุน แรงงานและผู้ประกอบ มาผ่านกระบวนการการผลิตหรือกรรมวิธีในการผลิต จนกระทั่งปัจจัยการผลิตต่าง ๆ ในข้างต้น ออกมาเป็นสินค้าและบริการ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค

สำหรับสินค้าและบริการที่มาจากการผลิตนั้นได้แก่ อาหาร เสื้อผ้า ยารักษาโรค ที่อยู่อาศัย ตลอดจนบริการต่าง ๆ อาทิ บริการขนส่ง บริการทางด้านสุขภาพ บริการทางด้านสันทนาการ เป็นต้น

กรรมวิธีในการผลิต

กรรมวิธีในการผลิต เป็นวิธีการที่ใช้เพิ่มประโยชน์ในการใช้สอยให้กับตัวสินค้าและบริการ และยังเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าและบริการอีกด้วย อาทิ เปลี่ยนจากสับปะรดผลสด เป็น สับปะรดกระป๋อง การเปลี่ยนสับปะรดสดให้เป็นสับปะรดกระป๋อง จะช่วยทำให้สามารถเก็บรักษาได้นานขึ้น ทำให้เกิดสินค้ารูปแบบใหม่และยังเพิ่มมูลค่าได้ด้วย

หรือจะเป็นการนำฝ้ายมาผ่านกรรมวิธีในการผลิตให้เป็นเส้นด้าย นำเส้นด้ายนั้นมาทักทอเป็นผ้าผืน แล้วนำผ้าผืนนั้นมาตัดเย็บเป็นเสื้อผ้าเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค เป็นต้น

จากที่ได้กล่าวมา จะเห็นว่า กรรมวิธีในการผลิต จะเป็นตัวช่วยที่ให้ประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจแบบใหม่ขึ้นมา ซึ่งสิ่งเหล่านี้ เราอาจเรียกได้ว่า “อรรถประโยชน์ของการผลิต” หรือ อาจจะเรียกว่าประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากกระบวนการหรือกรรมวิธีในการผลิตก็ได้

อรรถประโยชน์ของการผลิต

อรรถประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากกรรมวิธีในการผลิตนั้น สามารถเกิดขึ้นได้หลากหลายรูปแบบ แต่ขอนำเสนอแค่เพียงบางส่วน ดังนี้

  1. อรรถประโยชน์ที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงรูป เป็นประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงรูปของสินค้าที่ถูกนำเอาไปผ่านกรรมวิธีในการผลิต อาทิ การนำทุเรียนผลมาผ่านกรรมวิธีในการผลิตเป็น ทุเรียนทอด ทุเรียนกวน หรือ การนำเอาข้าวสาลี มาผ่านกรรมวิธีในการผลิตให้เป็นแป้ง เพื่อนำแป้งไปใช้ในการทำขนมต่าง ๆ เป็นต้น การเปลี่ยนแปลงรูปของสินค้า จะทำให้เกิดสินค้าใหม่ขึ้นมา อีกทั้งยังเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าได้อีกด้วย

  2. อรรถประโยชน์ที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของเวลา เป็นประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากการทำให้สินค้ามีอายุการใช้งานที่ยาวนานขึ้น เพราะบางครั้ง ผู้บริโภค อาจจะไม่ได้บริโภคสินค้าในทันที การทำให้สินค้ามีอายุที่ยาวนานขึ้น จึงทำให้สามารถเก็บเอาไว้ได้นาน และสามารถนำสินค้ามาใช้ได้เมื่อต้องการ ไม่ว่าจะเมื่อใด อาทิ นมกล่อง อาหารกระป๋อง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป เป็นต้น

    การทำให้สินค้ามีอายุที่ยาวนานขึ้น จะช่วยทำให้สามารถรักษาไว้ซึ่งตัวสินค้าและมูลค่าของสินค้า กล่าวคือ หากสินค้าไม่สามารถเก็บรักษาเอาไว้ได้ สุดท้าย ก็ต้องทิ้งสินค้าดังกล่าวไป ทำให้สูญเสียตัววัตถุดิบซึ่งเป็นต้นทุนในการผลิต และหากต้องซื้อวัตถุดิบมาใช้ในการผลิตด้วยแล้ว ก็จะทำให้สิ้นเปลืองต้นทุนในการผลิตด้วย

  3. อรรถประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสถานที่ ในการผลิตสินค้านั้น ประโยชน์ที่เกิดขึ้นอีกอย่างจากการผลิตก็คือ ประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสถานที่ กล่าวคือ หากผู้บริโภคที่อยู่ไกลออกไปจากสถานที่ที่เกิดการผลิตต้องการสินค้า ก็จะทำให้เกิดบริการอีกอย่างหนึ่งขึ้นมาที่เรียกว่า “การขนส่ง” ซึ่งในการขนส่งนั้นก็มีต้นทุนอยู่เช่นกัน ซึ่งเจ้าบริการขนส่งนี้ ก็สามารถทำให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจได้เช่นกัน

  4. อรรถประโยชน์ที่เกิดจากการเปลี่ยนกรรมสิทธิ์ เป็นประโยชน์อีกอย่างที่เกิดขึ้นจากผลสืบเนื่องของการผลิต กล่าวคือ ประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนความเป็นเจ้าของ อาทิ พ่อค้าคนกลาง นายหน้า เป็นต้น อธิบายให้เข้าใจได้ง่าย ๆ ดังตัวอย่าง

    – นาย A คือ ผู้ผลิตรองเท้า
    – นาย B คือ พ่อค้าคนกลาง
    – นาย C คือ ผู้บริโภค

    สถานการณ์สมมติ : นาย B พ่อค้าคนกลาง นำรองเท้าที่ นาย A เป็นผู้ผลิต มาขายให้กับนาย C ซึ่งคือผู้บริโภค

    จากสถานการณ์ข้างต้น การที่นาย B จะสามารถขายรองเท้าให้กับนาย C ได้ นาย B ก็ต้องมีรองเท้าเสียก่อน ซึ่งทำให้นาย B ต้องไปซื้อรองเท้าจากนาย A เพื่อมาขายให้กับนาย C

    *** สถานการณ์ดังที่กล่าวมานั้น คือ ประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงเจ้าของกรรมสิทธิ์

5. อรรถประโยชน์ที่เกิดจากการใช้บริการ เป็นประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากความต้องการของผู้บริโภคที่ต้องการบางสิ่งบางอย่างเพื่อความอำนวยความสะดวกให้แก่ชีวิต อาทิ บริการทางการแพทย์ การศึกษา การขนส่ง การธนาคาร การประกันภัย เป็นต้น

ลำดับขั้นในการผลิต

สำหรับลำดับขั้นในการผลิต มิได้หมายถึงขั้นตอนหรือกระบวนการการผลิต แต่หมายถึง ลำดับชั้นของการผลิต หรืออาจจะบอกว่า เป็นประเภทของการผลิตก็ได้ ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ประเภท

  1. การผลิตขั้นปฐมภูมิหรือการผลิตขั้นแรก เป็นการผลิตแบบดั้งเดิมของมนุษย์ เป็นการผลิตที่เป็นการใช้ประโยชน์จากธรรมชาติโดยตรง ไม่ต้องอาศัยกระบวนการทางอุตสาหกรรมแต่อย่างใด อาทิ การทำนา ทำไร่ ทำสวน เลี้ยงสัตว์ เป็นต้น

  2. การผลิตขั้นทุติยภูมิหรือการผลิตขั้นที่สอง เป็นการผลิตที่เกิดขึ้นจากการเอาผลผลิตของการผลิตขั้นแรก มาเปลี่ยน แปรสภาพ หรือแปรรูปให้เกิดเป็นสินค้าอีกรูปแบบหรือสินค้าชนิดใหม่ขึ้นมา อาทิ การนำผลไม้มาแปรรูปเป็นผลไม้กระป๋อง เป็นต้น

  3. การผลิตขั้นตติยภูมิหรือการผลิตขั้นที่สาม สำหรับการผลิตในขั้นนี้ เป็นการผลิตที่แตกต่างออกไปจากการผลิตขั้นปฐมภูมิและทุติยภูมิ ซึ่งสิ่งที่ต่างออกไปคือ การผลิตขั้นตติยภูมิ ไม่ใช่การผลิตสินค้า แต่เป็นการผลิตบริการ อาทิ การค้าปลีก การค้าส่ง การขนส่ง การประกันภัย การธนาคาร และการบริการในด้านอื่น ๆ

แบบฝึกหัด เรื่อง การผลิต

  1. การผลิต คือ อะไร
  2. อรรถประโยชน์ของการผลิตมีอะไรบ้าง
  3. การผลิตขั้นปฐมภูมิ มีลักษณะอย่างไร
  4. ลักษณะของการผลิตขั้นทุติยภูมิเป็นอย่างไร
  5. การผลิตในขั้นตติยภูมิ เหมือนหรือแตกต่างกับการผลิตขั้นปฐมภูมิและทุติยภูมิอย่างไร

ข้อสอบ เรื่อง การผลิต

  1. ข้อใด คือ นิยามของการผลิต
    ก. การนำเอาวัตถุดิบมาผลิตสินค้าและบริการ
    ข. กระบวนการขั้นตอนที่ทำให้เกิดสินค้าและบริการ
    ค. การนำเอาปัจจัยการผลิตมาผ่านกระบวนการผลิตจนเป็นสินค้า
    ง. ไม่มีข้อใดถูกต้อง

  2. ข้อใดต่อไปนี้ ไม่เกี่ยวข้องกับอรรถประโยชน์ของการผลิต
    ก. การแปรรูปสินค้า
    ข. การเปลี่ยนสถานที่
    ค. การเปลี่ยนแปลงเวลา
    ง. ถูกทุกข้อ

  3. การผลิตในขั้นปฐมภูมิตรงกับตัวเลือกในข้อใด
    ก. การปลูกทุเรียน
    ข. การผลิตปลากระป๋อง
    ค. การขนส่งสินค้าไปอีกสถานที่หนึ่ง
    ง. การบริการทางการศึกษาและการแพทย์

  4. ข้อใดไม่ใช่ผลผลิตของการผลิตในการขั้นทุติยภูมิ
    ก. บริการไปรษณีย์
    ข. ผลไม้บรรจุกระป๋อง
    ค. ทุเรียนทอดและทุเรียนกวน
    ง. ไม่ใช่ผลผลิตในขั้นทุติยภูมิทุกข้อ

  5. ข้อใดต่อไปนี้ กล่าวได้ถูกต้องเกี่ยวกับการผลิตขั้นตติยภูมิ
    ก. การปลูกข้าวและเก็บเกี่ยวข้าว
    ข. การแปรรูปผลไม้สดเป็นผลไม้กระป๋อง
    ค. บริการขนส่งสินค้าจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง
    ง. ไม่มีข้อใดกล่าวได้ถูกต้อง

เฉลยข้อสอบ
1) ค. 2) ง. 3) ก. 4) ก. 5) ค.